อนาคตการแพทย์ไทย AI ช่วยหมอวินิจฉัยโรค รักษาผู้ป่วย รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีนั้นสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างมาก และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในทางการแพทย์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและรักษาให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางแพทย์
Thairath Money สรุปเนื้อหาสำคัญจากงาน “AI in MED conference” โดยความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ University of Alabama at Birmingham (UAB) ในงานเสวนา หัวข้อการประยุกต์ใช้ AI และ Digital health ในระบบนิเวศการบริการด้านการแพทย์ โดยรศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โดยรศ.นพ.ดิลก ระบุถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทางการแพทย์ซึ่งได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี AI อย่าง Deep Learning เพื่อวิเคราะห์ภาพการรักษาโรค
ซึ่ง Deep Learning นั้นเป็นประเภทหนึ่งของ Machine Learning ที่สามารถประมวลผลข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น โดยมนุษย์จะทำงานน้อยลง และให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า นอกจากจะใช้ในการสร้างแชตบอตแล้ว ก็ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันแม้ AI จะเข้ามายกระดับการทำงานในสายงานสุขภาพมากแค่ไหน แต่ก็ยังคงมีความกังวลในเรื่องของกฎหมายและการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ซึ่ง รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า ต้องมีการใช้เทคโนโลยีด้วยความระวัดระวัง รวมถึงมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี
จะปรับใช้ AI ในทางการแพทย์ ต้องเริ่มต้นอย่างไร
อันดับแรกรศ.นพ.ดิลก เผยว่า ต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องดูภาพรวมในเรื่องของนโยบายและกฎระเบียบจากภาครัฐเพื่อทำให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย
พร้อมเปิดแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งมีผลสำรวจความพร้อมในการปรับใช้เทคโนโลยี AI ของไทยยังคงขาดในเรื่องความพร้อมด้านเทคโนโลยีและกำลังคน ซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาจากภาครัฐ นำไปสู่แผนพัฒนาเพื่อสร้างคนและเทคโนโลยีต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ได้มีการประยุกต์ใช้ AI ในด้านการแพทย์แล้ว โดยใช้ Computer Vision และ Image processing ในการตรวจสอบข้อมูลจากภาพ เช่น ค้นหาเครื่องมือผ่าตัด ช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ และ Signal Processing ในการจับสัญญาณของคนไข้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการรักษา รวมไปถึง Data Analytic เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมคนไข้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ ลดระยะเวลาในการรักษา และลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล
ทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการรันระบบคิว ระบบจ่ายยา ระบบการจ่ายค่ารักษา ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาล นำไปสู่การเกิดเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรศ.นพ.ดิลกระบุว่า ความร่วมมือจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ได้เสริมด้วยข้อมูลวิจัยที่ระบุถึงการใช้เทคโนโลยีในทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน และได้พัฒนาเพื่อปรับใช้เทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เทคโนโลยีตรวจจับการเต้นของหัวใจอย่าง Apple Watch ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยได้เช่นกัน
พร้อมกับการใช้ AI ในการคาดการณ์อาการเจ็บป่วยด้วยข้อมูลพื้นฐานได้อย่างแม่นยำ ทำให้เริ่มต้นรักษาได้เร็วเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเก็บไว้ใน Cloud เพื่อประกอบการจ่ายยาของแพทย์ และต่อไปก็จะมีความรวดเร็วและมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาของแพทย์ในอนาคต
ขอบคุณข่าวจาก : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2726467