รัฐสภายุโรปเห็นชอบ ออกร่างกฎหมายคุมปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรก
รัฐสภายุโรปออกร่างกฎหมายควบคุมการพัฒนาและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรก จัดระดับความเสี่ยงการใช้ AI และห้ามใช้งานในลักษณะที่เป็นภัยต่อผู้คน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมาชิกรัฐสภายุโรปมีมติในวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566 เห็นชอบให้มีการจัดทำร่างกฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรก เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการพัฒนา รวมถึงใช้งาน AI ท่ามกลางความกังวลเรื่องขีดความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
กฎหมายดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘กฎหมายเอไอ’ (AI Act) จะมีการวางกรอบการควบคุม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้
กรอบการควบคุมดังกล่าวจะจัดประเภทการใช้ AI ตามระดับความเสี่ยง โดยยิ่งความเสี่ยงสูงการควบคุมจะยิ่งเข้มงวด ส่วนการใช้งาน AI ในระดับความเสี่ยงสูงสุด หรือในลักษณะที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นภัยต่อความปลอดภัย, การใช้ชีวิต และสิทธิของผู้คน จะถูกสั่งห้าม
การใช้งาน AI ในระดับความเสี่ยงสูงสุด รวมไปถึง การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อหาประโยชน์จากกลุ่มผู้เปราะบางอย่างเฉพาะเจาะจง, การใช้งานเพื่อระบุตัวตนทางชีวมิติ (Biometric) ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคนิคการควบคุมความคิดแบบซ่อนเร้น (subliminal technique)
ส่วนการใช้งาน AI ในระดับความเสี่ยงจำกัด เช่น การใช้แชตบอต ChatGPT ของบริษัท OpenAI หรือ เทคโนโลยีสร้างภาพ, เสียง หรือ วิดีโอต่างๆ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทุกครั้งว่าเป็นเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์บูมขึ้นมาหลังจากการเปิดเผยของแชตบอต ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งได้รับความนิยมในชั่วข้ามคืน และทำให้เกิดการแข่งขันด้านการพัฒนา AI ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆ
แต่ผลกระทบจาก AI ก็เริ่มแสดงออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ครูมากมายกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากนักเรียนใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำการบ้านให้แทน ขณะที่ศิลปินกับนักดนตรีก็กำลังเผชิญการลอกเลียนผลงานด้วยการใช้ AI ทำให้เกิดความกังวลว่า เทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายหากไม่มีการควบคุม
ที่มา : cnn